วันพฤหัสบดีที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

การประเมินผลการเรียนรู้

     ฉัตรศิริ ปิยะพิมลสิทธิ์ ( http://www.watpon.com/Elearning/mea1.htm ) ได้กล่าวถึง การประเมินผล (Evaluation) หมายถึง การนำเอาข้อมูลต่าง ๆ ที่ได้จากการวัดรวมกับการใช้วิจารณญาณของผู้ประเมินมาใช้ในการตัดสินใจ โดยการเปรียบเทียบกับเกณฑ์ เพื่อให้ได้ผลเป็นอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น เนื้อหมูชิ้นนี้หนัก 0.5 กิโลกรัมเป็นเนื้อหมูชิ้นที่เบาที่สุดในร้าน (เปรียบเทียบกันภายในกลุ่ม) เด็กชายแดงได้คะแนนวิชาภาษาไทย 42 คะแนนซึ่งไม่ถึง 50 คะแนนถือว่าสอบไม่ผ่าน (ใช้เกณฑ์ที่ครูสร้างขึ้น) เป็นต้น
การประเมินผลแบ่งได้เป็น 2 ประเภท การประเมินแบบอิงกลุ่มและการประเมินแบบอิงเกณฑ์
     1. การประเมินแบบอิงกลุ่ม เป็นการเปรียบเทียบคะแนนจากแบบทดสอบหรือผลงานของบุคคลใดบุคคลหนึ่งกับบุคคลอื่น ๆ ที่ได้ทำแบบทดสอบเดียวกันหรือได้ทำงานอย่างเดียวกัน นั่นคือเป็นการใช้เพื่อจำแนกหรือจัดลำดับบุคคลในกลุ่ม การประเมินแบบนี้มักใช้กับการ การประเมินเพื่อคัดเลือกเข้าศึกษาต่อ หรือการสอบชิงทุนต่าง ๆ
     2. การประเมินแบบอิงเกณฑ์ เป็นการเปรียบเทียบคะแนนจากแบบทดสอบหรือผลงานของบุคคลใดบุคคลหนึ่งกับเกณฑ์หรือจุดมุ่งหมายที่ได้กำหนดไว้ เช่น การประเมินระหว่างการเรียนการสอนว่าผู้เรียนได้บรรลุวัตถุประสงค์การเรียนรู้ที่ได้กำหนดไว้หรือไม่

ข้อแตกต่างระหว่างการประเมินผลแบบอิงกลุ่มและอิงเกณฑ์
 การประเมินผลแบบอิงกลุ่ม
    1. เป็นการเปรียบเทียบคะแนนที่ได้กับคะแนนของคนอื่น ๆ
    2. นิยมใช้ในการสอบแข่งขัน
    3. คะแนนจะถูกนำเสนอในรูปของร้อยละหรือคะแนนมาตรฐาน
    4. ใช้แบบทดสอบเดียวกันทำหรับผู้เรียนทั้งกลุ่มหรืออาจใช้แบบทดสอบคู่ขนาน เพื่อให้สามารถเปรียบเทียบกันได้
    5. แบบทดสอบมีความยากง่ายพอเหมาะ มีอำนาจจำแนกสูง
    6. เน้นความเที่ยงตรงทุกชนิด
การประเมินแบบอิงเกณฑ์
    1. เป็นการเปรียบเทียบคะแนนที่ได้กับเกณฑ์ที่ได้กำหนดไว้
    2. สำหรับการเรียนการสอนเพื่อพัฒนาผู้เรียนหรือเพื่อปรับปรุงการเรียนการสอน
    3. คะแนนจะถูกนำเสนอในรูปของผ่าน-ไม่ผ่านตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้
    4. ไม่ได้เปรียบเทียบกับคนอื่น ๆ จึงไม่จำเป็นต้องใช้แบบทดสอบฉบับเดียวกันกับผู้เรียนทั้งชั้น
    5. ไม่เน้นความยากง่าย แต่อำนาจจำแนกควรมีพอเหมาะ
    6. เน้นความเที่ยงตรงเชิงเนื้อหา

     ภูมิชนะ เกิดพงษ์ ( https://www.gotoknow.org/posts/181202 ) ได้กล่าวถึง ความหมายของการประเมินผล (evaluation)
การประเมินผล หมายถึงกระบวนการที่กระทำต่อจากการวัดผล แล้ววินิจฉัยตัดสิน ลงสรุปคุณค่าที่ได้จากการวัดผลอย่างมีกฎเกณฑ์ และมีคุณธรรม เพื่อพิจารณาตัดสินใจว่าสิ่งนั้นดีหรือเลว เก่งหรืออ่อน ได้หรือตก เป็นต้น
          ดังนั้น การวัดผลและการประเมินผลมีความสัมพันธ์กัน กล่าวคือ การวัดผลจะทำให้ได้ตัวเลข ปริมาณ หรือรายละเอียดของคุณลักษณะหรือพฤติกรรมของบุคคล จากนั้นจะนำเอาผลการวัดนี้ไปพิจารณาเปรียบเทียบกับเกณฑ์ที่กำหนดไว้เพื่อตัดสิน หรือลงสรุปเกี่ยวกับสิ่งนั้น ซึ่งเรียกว่าการประเมินผล
           การวัดผลและประเมินผลการศึกษา เกี่ยวข้องกับกระบวนการเรียนการสอนตลอดเวลา ซึ่งจุดมุ่งหมายของการวัดผลและประเมินผลนั้น ไม่ใช่เฉพาะการนำผลการวัดไปตัดสินได้-ตก หรือใครควรจะได้เกรดอะไรเท่านั้น แต่ควรนำผลการวัดและประเมินนี้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อการศึกษาในหลาย ๆ ลักษณะดังนี้
1. เพื่อค้นและพัฒนาสมรรถภาพของนักเรียน หมายถึงการวัดผลและประเมินผลเพื่อดูว่านักเรียนบกพร่องหรือไม่เข้าใจในเรื่องใด ตอนใด แล้วครูพยายามสอนให้นักเรียนเกิดความรู้ มีความเจริญงอกงามตามศักยภาพของตนเอง จุดมุ่งหมายข้อนี้สำคัญมาก หรืออาจกล่าวได้ว่าเป็น ปรัชญาการวัดผลการศึกษา (ชวาล แพรัตกุล. 2516 : 34)
2. เพื่อจัดตำแหน่ง (placement) การวัดผลและประเมินผลวิธีนี้เพื่อเปรียบเทียบตนเองกับคนอื่นๆ โดยอาศัยกลุ่มเป็นเกณฑ์ว่าใครเด่น-ด้อย ใครได้อันดับที่ 1 ใครสอบได้-ตก หรือใครควรได้เกรดอะไร เป็นต้น การวัดผลและประเมินผลวิธีนี้เหมาะสำหรับการตัดสินผลการเรียนแบบอิงกลุ่ม และการคัดเลือกคนเข้าทำงาน
3. เพื่อวินิจฉัย (diagnostic) เป็นการวัดผลและประเมินผลที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อหาความบกพร่องของผู้เรียนว่าวิชาที่เรียนนั้นมีจุดบกพร่องตอนใด เพื่อที่จะได้นำไปปรับปรุงแก้ไข ซ่อมเสริมส่วนที่ขาดหายไปให้ดียิ่งขึ้น ซึ่งในกระบวนการเรียนการสอนเรียกว่าการวัดผลย่อย (formative measurement)
4. เพื่อเปรียบเทียบ (assessment) เป็นการวัดผลและประเมินผลเพื่อเปรียบเทียบตนเอง หรือ เพื่อดูความงอกงามของเด็กแต่ละคนในช่วงเวลาที่ต่างกัน ว่าเจริญงอกงามเพิ่มขึ้นกว่าเดิมมากน้อยเพียงใด เช่น การเปรียบเทียบผลก่อนเรียน(pre-test) และหลังเรียน (post-test)
 5. เพื่อพยากรณ์ (prediction) เป็นการวัดผลและประเมินผลเพื่อทำนายอนาคตต่อไปว่าจะเป็นอย่างไร นั่นคือเมื่อเด็กคนหนึ่งสอบแล้วสามารถรู้อนาคตได้เลยว่า ถ้าการเรียนของเด็กอยู่ในลักษณะนี้ต่อไปแล้วการเรียนจะประสบผลสำเร็จหรือไม่ ซึ่งสามารถนำไปใช้ในเรื่องของการแนะแนวการศึกษาว่านักเรียนควรเรียนสาขาใด หรืออาชีพใดจึงจะเรียนได้สำเร็จ แบบทดสอบที่ใช้วัด  จุดมุ่งหมายในข้อนี้ ได้แก่ แบบทดสอบวัดความถนัด (aptitude test) แบบทดสอบวัดเชาว์ปัญญา (intelligence test) เป็นต้น
6.เพื่อประเมินผล(evaluation)เป็นการนำผลที่ได้จากการวัดไปเปรียบเทียบกับเกณฑ์ที่กำหนดไว้ เพื่อตัดสินลงสรุปให้คุณค่าของการศึกษา หลักสูตรหรือ เครื่องมือที่ใช้ในการวัดผลว่าเหมาะสมหรือไม่ และควรปรับปรุงแก้ไขอย่างไร

ประโยชน์ของการวัดผลและประเมินผลการศึกษา
การวัดผลและประเมินผลการศึกษา มีประโยชน์ต่อกระบวนการเรียนการสอนเป็นอย่างยิ่งเพราะว่าเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งในการตัดสินใจของครู ผู้บริหารและนักการศึกษา ซึ่งพอจะสรุปประโยชน์ในด้านต่าง ๆ ดังนี้ (อนันต์ ศรีโสภา. 2522 : 1-2)
1. ประโยชน์ต่อครู ช่วยให้ทราบเกี่ยวกับพฤติกรรมเบื้องต้นของนักเรียน ครูก็จะรู้ว่านักเรียนมีความรู้พื้นฐานพร้อมที่จะเรียนในบทต่อไปหรือไม่ ถ้าหากว่านักเรียนคนใดยังไม่พร้อมครูก็จะหาทางสอนซ่อมเสริม นอกจากนี้ยังช่วยให้ครูปรับปรุงเทคนิคการสอนให้เหมาะสมและมีประสิทธิภาพอีกด้วย
2. ประโยชน์ต่อนักเรียน ช่วยให้นักเรียนรู้ว่าตัวเองเก่งหรืออ่อนวิชาใด เรื่องใด ความสามารถของตนอยู่ในระดับใด เพื่อที่จะได้ปรับปรุงตนเอง ตลอดจนแก้ไขข้อบกพร่องทางการเรียนของตนให้ดียิ่งขึ้น
3. ประโยชน์ต่อการแนะแนว ช่วยให้แนะแนวการเลือกวิชาเรียน การศึกษาต่อ การเลือกประกอบอาชีพของนักเรียนให้สอดคล้องเหมาะสมกับความรู้ความสามารถและบุคลิกภาพตลอดจนช่วยให้สามารถแก้ปัญหาทางจิตวิทยา อารมณ์ สังคมและบุคลิกภาพต่างๆของนักเรียน
4. ประโยชน์ต่อการบริหาร ช่วยในการวางแผนการเรียนการสอน ตลอดจนการบริหารโรงเรียน ช่วยให้ทราบว่าปีต่อไปจะวางแผนงานโรงเรียนอย่างไร เช่น การจัดครูเข้าสอน การส่งเสริมเด็กที่เรียนดี การปรับปรุงรายวิชาของโรงเรียนให้ดีขึ้น เป็นต้น นอกจากนั้นแล้วยังมีประโยชน์ต่อการคัดเลือกบุคคลเข้าทำงานในตำแหน่งต่าง ๆ ตามความเหมาะสม
5. ประโยชน์ต่อการวิจัย ช่วยวินิจฉัยข้อบกพร่องในการบริหารงานของโรงเรียน การสอนของครูและข้อบกพร่องของนักเรียน นอกจากนี้ยังนำไปสู่การวิจัย การทดลองต่าง ๆ อันจะเป็นประโยชน์ต่อการศึกษามาก
6. ประโยชน์ต่อผู้ปกครอง (พิตร ทองชั้น. 2524 : 7) ช่วยให้ทราบว่าเด็กในปกครองของตนนั้น มีความเจริญงอกงามเป็นอย่างไร เพื่อเตรียมการสนับสนุนในการเรียนต่อ ตลอดจนการเลือกอาชีพของเด็ก

     http://www.elearning.msu.ac.th/opencourse/0506704/page01_04.html ได้รวบรวม ในการวัดและประเมินการเรียนรู้ให้มีประสิทธิภาพ ผู้ประเมินควรเริ่มต้นวางแผนดำเนินกิจกรรม ด้วยการตอบคำถามหลัก 4 คำถาม ดังนี้ (ศิริชัย กาญจนวาศรี. 2543 : 36)
           1. วัดและประเมินไปทำไม ผู้ประเมินจะต้องตอบคำถามให้ได้ว่า ข้อมูลหรือสารสนเทศ
นั้น วัดและประเมินเพื่อประโยชน์อะไร สามารถตอบคำถามประโยชน์ของการประเมินตามประเภทของการประเมิน ดังนี้
                      1.1 การวัดและประเมินก่อนเรียน เพื่อจัดวางตำแหน่งผู้เรียนหรือประเมินความรอบรู้
ของผู้เรียนก่อนจัดกิจกรรมการเรียนการสอน เพื่อประโยชน์ต่อการตัดสินใจในการวางแผนจัดกิจกรรมการเรียนการสอนที่มีความสอดคล้องเหมาะสม
                      1.2 การวัดและประเมินระหว่างเรียน เพื่อตรวจสอบความรู้ความสามารถของผู้เรียน
ขณะที่จัดกิจกรรมการเรียนการสอน เพื่อประโยชน์ในการติดตามดูความก้าวหน้า หรือพัฒนาการในการเรียนรู้รวมทั้งข้อบกพร่องในการเรียนของผู้เรียน
                      1.3 การวัดและประเมินหลังเรียน เพื่อสรุปผลการเรียนรู้ของผู้เรียน ที่เป็นประโยชน์ใน
การตัดสินใจเกี่ยวกับระดับการเรียนของผู้เรียน

           2. วัดและประเมินอะไร ผู้ประเมินจะต้องตอบคำถามให้ได้ว่า จะต้องการวัดและประเมิน
คุณลักษณะใดจากผู้เรียน ต้องการข้อมูลด้านใดเป็นสำคัญ ซึ่งผู้ประเมินควรคำนึงถึงประเภทของการเรียนรู้ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับผู้เรียน เช่น
                      2.1 การเรียนรู้ทางด้านสติปัญญา เกี่ยวกับความรู้ความจำ ความคิด การแก้ปัญหาต่าง ๆ
                      2.2 การเรียนรู้ทางด้านอารมณ์และความรู้สึก เช่น ความสนใจ ทัศนคติ เป็นต้น
                      2.3 การเรียนรู้ทางด้านทักษะและการปฏิบัติ เช่น ความสามารถในการปฏิบัติงาน
การมีทักษะในงานต่าง ๆ

           3. วัดและประเมินอย่างไร ผู้ประเมินจะต้องตอบคำถามให้ได้ว่า จะต้องใช้เครื่องมือชนิดใดถึงจะมีความเหมาะสมสอดคล้องกับสิ่งที่ประเมิน ซึ่งควรพิจารณาในประเด็นต่อไปนี้
                      3.1 ลักษณะของข้อมูลที่ต้องการ เช่น ข้อมูลเชิงปริมาณ หรือ เชิงคุณภาพ
                      3.2 ลักษณะของกลุ่มตัวอย่างในการประเมิน เช่น จำนวน และความสามารถของกลุ่มตัวอย่าง
                      3.3 ระยะเวลาในการประเมิน เช่น การมีเวลาที่จำกัดอาจจะต้องใช้แบบสอบถาม เป็นต้น

           4. ตัดสินผลด้วยวิธีใด ผู้ประเมินจะต้องตอบคำถามให้ได้ว่า จะต้องตัดสินผลการประเมินโดยพิจารณาจากคุณลักษณะใด ใช้เกณฑ์อย่างไรในการประเมิน ซึ่งควรพิจารณาในประเด็นต่อไปนี้
                      4.1 การตัดสินอิงกลุ่ม เพื่อพิจารณาตัดสินผลการเรียน
                      4.2 การตัดสินอิงเกณฑ์ เพื่อพิจารณาผลการเรียนรู้ ใช้ในการพัฒนากิจกรรมการเรียนการสอน เป็นต้น

ประเภทเครื่องมือประเมินการเรียนรู้

           เครื่องมือในการประเมินการเรียนรู้มีหลายชนิด นำเสนอชนิดที่นิยมใช้ในชั้นเรียนและที่สะท้อนแนวคิดการประเมินการเรียนรู้แบบใหม่ พอสังเขป ดังนี้ (นาตยา ปิลันธนานนท์ . 2545 : 212 – 216)

           6.1 ข้อสอบปรนัย
                      ข้อสอบแบบปรนัยมีอยู่หลายประเภท ได้แก่ แบบเลือกตอบ แบบถูก/ผิด แบบจับคู่ และแบบตอบสั้น ๆ หรือเดิมคำหรือข้อความในช่องว่าง ซึ่งจะมีคำตอบชัดเจนแน่นอนเพียงคำตอบเดียว ครูจะใช้ข้อสอบปรนัยมากทั้งในการสอบย่อยรายหน่วย การบ้าน การสอบกลางภาค และการสอบปลายภาคข้อสอบประเภทนี้ จึงมีบทบาทมากในการประเมินระดับห้องเรียนการประเมินด้วยข้อสอบเหล่านี้จะมีคุณค่า ถ้านำมาใช้ประกอบการประเมินด้วยข้อสอบอัตนัย การประเมินจากผลงานกลุ่มที่ร่วมกันทำ การประเมินจากผลงานที่รวบรวมไว้และการสังเกตของครู แต่มิใช่มาประเมินโดยให้คะแนนแยกส่วนออกจากกัน

           6.2 ข้อสอบอัตนัย
                      คำถามอัตนัยที่มีคุณภาพจะทำให้ผู้เรียนได้ใช้ความรู้ข้อมูลต่าง ๆ มาสร้างคำตอบด้วยตัวเอง จึงเหมาะสำหรับการประเมินแนวความคิดที่เป็นประเด็นใหญ่ ๆ สำคัญ ๆ ต้องการดูวิธีการสร้างความสัมพันธ์ของแนวคิดต่าง ๆ ของผู้เรียนว่าเป็นอย่างไร ไม่มีคำตอบใดเพียงคำตอบเดียวที่ถูกต้อง ข้อสอบอัตนัยจึงใช้ประเมินได้ทั้งองค์ความรู้และความรู้ที่เป็นกระบวนการต่าง ๆ เช่น การให้ผู้เรียนอธิบายกระบวนการต่าง ๆ หรือวิพากษ์วิจารณ์กระบวนการต่าง ๆ

           6.3 การประเมินจากงาน
                      การประเมินความสามารถของผู้เรียนจากการทำงาน ถือเป็นส่วนหนึ่งของการประเมินตามมาตรฐานด้วย บางคนอาจเรียกการประเมินจากการปฏิบัติงาน (performance task) ว่าเป็นการประเมินตามสภาพความเป็นจริง (authentic task) การประเมินจากการปฏิบัติงานเป็นการประเมินในสถานการณ์ที่ให้ผู้เรียนต้องสร้างและค้นหาคำตอบเอง ซึ่งเป็นคำตอบที่สะท้อนให้เห็นว่าผู้เรียนสามารถนำความรู้มาประยุกต์ใช้ได้ ส่วนการประเมินตามสภาพจริงเป็นการประเมินในสถานการณ์ที่ผู้เรียนต้องสร้างและค้นหาคำตอบ ซึ่งเป็นคำตอบที่แสดงถึงการประยุกต์ความรู้มาใช้ในการได้คำตอบนั้น สถานการณ์ในการประเมินตามสภาพจริง จะเป็นสถานการณ์ที่เป็นชีวิตจริงมากกว่าการประเมินความสามารถ ตัวอย่างเช่น การประเมินความสามารถอาจให้ผู้เรียนอธิบายว่าเขามีวิธีการแก้ปัญหากระดาษที่ไม่ใช้แล้ว ที่อยู่กลาดเกลื่อนในโรงเรียนได้อย่างไร แต่ถ้าเป็นงานที่ตามสภาพจริงก็ต้องให้ผู้เรียนลงมือปฏิบัติการแก้ปัญหาเลยคิดกระบวนการ หรือแม้แต่ลงมือสร้างเครื่องมือเพื่อแก้ปัญหานี้

           6.4 แฟ้มสะสมงาน
                      เป็นเครื่องมือที่สะท้อนงานที่ลงมือปฏิบัติและเป็นงานที่ตรงตามสภาพจริงได้ เป็นเครื่องมือที่เหมาะสมสำหรับการประเมินระดับห้องเรียนที่รวบรวมงานต่าง ๆ ที่ผู้เรียนทำไม่ว่าจะเป็นรายงาน การบันทึกย่อต่าง ๆ ผลงานต่าง ๆ ที่สร้างขึ้น แฟ้มสะสมงานอาจบรรจุตัวอย่างชิ้นงานที่ทำในแต่ละขั้นตอน เช่น ตั้งแต่ต้นร่าง ต้นฉบับ จนกระทั่งเป็นรายงานฉบับสมบูรณ์ สิ่งที่สำคัญที่สุด แฟ้มสะสมงานควรบรรจุคำอธิบายถึงกระบวนการในการทำงานแต่ละขั้นตอน ของโครงงานแต่ละชิ้นว่ากว่าจะสำเร็จเป็นชิ้นงานนั้นได้ทำอย่างไร และสุดท้ายแฟ้มสะสมงานควรควบคู่ไปกับการจัดแสดงแฟ้มงานด้วย นั่นคือการนำเสนองานที่ผู้เรียนทำให้เขาจัดแสดงงานของเขาเอง การจัดแสดงนิทรรศการผลงานของผู้เรียนอาจใช้สื่อประสม มัลติมีเดีย การเขียนหนังสือ แผ่นพับ การเตรียมพูดรายงาน อธิบาย การสร้างรูปจำลองสร้างกราฟิกจากคอมพิวเตอร์ การเตรียมที่จะตอบคำถามต่าง ๆ ของผู้เข้าชม ได้แก่ ครู เพื่อนร่วมชั้น เพื่อนร่วมโรงเรียน พ่อแม่ ผู้ปกครอง หรือคนในชุมชน

           6.5 การสังเกตของครู
                      การรวบรวมข้อมูลต่าง ๆ จากการประเมิน วิธีการหนึ่งที่ดีคือการสังเกตของครู ครูยิ่งมีความใกล้ชิดเด็กมากเท่าใด การรวบรวมข้อมูลจากการสังเกตของครูก็จะยิ่งมีความตรงมากเท่านั้น ในการสังเกตครูอาจเลือก “จับตา” ดูเด็กในมาตรฐาน มาตรฐานช่วงชั้นบางข้อที่ต้องการจากการที่เขาอยู่ในโรงเรียนในแต่ละวัน ลักษณะการสังเกตควรเป็นการสังเกตดูร่องรอยมากกว่า ที่จะสังเกตอย่างเป็นทางการที่จะต้องมาออกแบบเครื่องมือการสังเกตโดยเฉพาะ หรือถ้าจะใช้เครื่องมือการสังเกต ก็อาจเป็นบันทึกประจำวัน

           6.6 การให้ผู้เรียนประเมินตนเอง
                      การประเมินตนเองเป็นการฝึกให้ผู้เรียนได้มีพัฒนาการในทักษะการคิดขั้นสูง การฝึกให้ผู้เรียนได้ประเมินตนเองจะทำให้ผู้เรียนได้รู้จักกำหนดเป้าหมายการเรียนของตน ซึ่งถือว่าเป็นหัวใจสำคัญของการประเมินผลด้วยวิธีนี้ การให้ผู้เรียนได้ประเมินตนเอง ครูควรให้กรอบประเด็นคำถามเพื่อเป็นแนวทางในการประเมินตนเอง

           6.7 การประชุมหารือเพื่อประเมินผล
                      การประชุมมีจุดประสงค์เพื่อให้ครูได้นำข้อมูล ที่ครูประเมินมาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้เรียน และเพื่อให้ผู้เรียนได้นำข้อมูลของเขามาแลกเปลี่ยนกับครูด้วย ทำให้ทั้งครูและผู้เรียนมีส่วนร่วมในการประเมินหรือร่วมมือกันประเมิน ซึ่งจะมีความหมายที่ใกล้เคียงกับคำในภาษาอังกฤษว่า assessment เป็นอย่างมาก เพราะคำว่า assess มาจากคำในภาษาละตินว่า assidere แปลว่า sit with หรือนั่งด้วยกัน นั่นคือนั่งลงด้วยกันกับผู้เรียน เวลาที่เรานั่งลงข้าง ๆ กับใครแปลว่าเรากำลังให้เกียรติกับเขา ดังนั้นควรมองว่า การประเมินมิใช่เป็นการแสดงอำนาจของครูที่มีอยู่เหนือผู้เรียน แต่ควรเป็นเรื่องการมานั่งจับเข่าคุยกัน เราประเมินกับผู้เรียนและทำไปเพื่อผู้เรียนมิใช่เป็นการกระทำต่อผู้เรียนในลักษณะเช่นนี้ ก็จะทำให้การประเมินมีลักษณะไปในทางสร้างสรรค์ ร่วมแรงร่วมใจร่วมช่วยเหลือกัน ที่สุดก็จะส่งผลต่อการเรียนรู้ของผู้เรียน

สรุป
        การประเมินการเรียนรู้เป็นกระบวนการหนึ่ง ที่ทำให้ครูผู้สอนมองเห็นความสำเร็จของการจัดการเรียนการสอน ซึ่งมีความสัมพันธ์สอดคล้องกัน ครูผู้สอนต้องมีความเข้าใจเกี่ยวกับแนวคิด และหลักการทางด้านการประเมินการเรียนรู้ เพื่อเป็นพื้นฐานในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ดังเจตนารมณ์ของหลักสูตรต่อไป

ที่มา
     ฉัตรศิริ ปิยะพิมลสิทธิ์. [Online]  http://www.watpon.com/Elearning/mea1.htmการวัดผลและประเมินผล : ความหมายและประเภท. เข้าถึงเมื่อ 15 กรกฎาคม 2558.
     ภูมิชนะ เกิดพงษ์. [Online]  https://www.gotoknow.org/posts/181202การวัดผล ประเมินผล การวัดและประเมินผล. เข้าถึงเมื่อ 15 กรกฎาคม 2558.
     http://www.elearning.msu.ac.th/opencourse/0506704/page01_04.htmlบทที่ 1  ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับการประเมินการเรียนรู้.เข้าถึงเมื่อ 16 กรกฎาคม 2558.

วันพุธที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

การเรียนรู้แบบเรียนรวม

     ฉวีวรรณ โยคิน ( http://61.19.246.216/~nkedu2/?name=webboard&file=read&id=177 ) ได้กล่าวถึง  การจัดการศึกษาแบบเรียนรวม ถือว่า เป็นแนวคิดใหม่ทางการศึกษาที่โรงเรียนจะต้องจัดการศึกษาให้กับเด็กทุกคน ไม่มีการแบ่งแยกว่าเด็กคนใดเป็นเด็กทั่วไป หรือเด็กคนใดที่มีความต้องการพิเศษ โดยโรงเรียนจะต้องจัดการศึกษาให้อย่างเหมาะสม ตามหลักการเรียนรวม เด็กที่มีความต้องการพิเศษจะได้เรียนในโรงเรียนปกติใกล้บ้านโดยไม่มีการแบ่งแยก ได้เรียนในชั้นเดียวกับเพื่อนในวัยเดียวกันไม่มีห้องเรียนพิเศษการช่วยเหลือสนับสนุนอื่นๆ จะจัดอยู่ในสภาพแวดล้อมในชั้นเรียนปกติ ทั้งนี้โรงเรียนต้องมีการปรับเปลี่ยนระบบให้มีความยืดหยุ่นและตอบสนองต่อความต้องการที่หลากหลายของเด็กแต่ละคน และ เด็กทุกคนมีฐานะเป็นสมาชิกหนึ่งของโรงเรียนมีสิทธิ มีความเสมอภาค เท่าเทียมกัน ซึ่ง เป้าประสงค์ของการเรียนรวม คือ การจัดโอกาสสำหรับนักเรียนทุกคนให้บรรลุขีดศักยภาพในการศึกษาทั่วไป เพื่อให้เด็กสามารถดำรงชีพในสังคมร่วมกันได้อย่างมีความสุขและยอมรับซึ่งกัน และการจัดการศึกษาแบบเรียนรวมเป็น การให้โอกาสเด็กพิการได้เรียนอย่างเคียงบ่าเคียงไหล่กับเด็กทั่วไป ในสภาพห้องเรียนปกติ ซึ่งหากได้รับการช่วยเหลืออย่างถูกวิธีแล้ว เด็กพิการสามารถประสบความสำเร็จได้ การเรียนรวมทำให้เด็กพิการมีปฏิสัมพันธ์กับเด็กทั่วไปและรอดพ้นจากการถูกตีตราว่าเป็นเด็กพิการ ทำให้เด็กทั้งสองกลุ่มยอมรับซึ่งกันและกัน การจัดการศึกษาแบบเรียนรวมจึงเป็นทางเลือกหนึ่งที่ให้โอกาสแก่คนพิการได้พัฒนาศักยภาพทุกด้านในระบบของโรงเรียนที่จัดให้
      การเรียนรวมจึงมิใช่การศึกษาเฉพาะเด็กที่มีความต้องการพิเศษเท่านั้นหากแต่เป็นการศึกษาเพื่อเด็กทุกคน การจัดการเรียนการสอนและการดำเนินการต่างๆจะเป็นการผสมผสานระหว่างหลักการทางการศึกษาพิเศษ และการศึกษาทั่วไปการเรียนรวมในประเทศไทย แม้ว่าจะได้ดำเนินการไป แต่ก็ยังมีปัญหาหลากหลายทั้งในการบริหารจัดการ การบริหารหลักสูตร การประเมินความต้องการพิเศษทางการศึกษาของเด็ก การจัดหาสื่อ สิ่งอำนวยความสะดวก และการช่วยเหลือ และการช่วยเหลือเกื้อกูลอันจำเป็นที่จะทำให้การเรียนรวมดำเนินไปได้ การปรับวิธีสอน และการปรับวิธีการวัดผล เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพปัญหา และความต้องการของผู้เรียน อีกประการหนึ่งการจัดการศึกษาแบบเรียนรวมที่ขาดประสิทธิภาพอาจเป็นผลเนื่องมาจากความเข้าใจผิด และกลไกที่เป็นปัญหาหลายประการที่มาจากทั้งปัจจัยภายในโรงเรียนเอง และปัจจัยภายนอกโรงเรียน เช่น ขาดบุคลากรทางการศึกษาที่เข้าใจการจัดการศึกษาสำหรับเด็กที่มีความต้องการพิเศษอย่างแท้จริง ปัญหานานัปการเหล่านี้ ทำให้การเรียนรวมดำเนินไปในวงจำกัดและไม่ก้าวหน้าเท่าที่ควรแม้ว่า การจัดการศึกษาพิเศษให้กับเด็กที่มีความต้องการพิเศษ ซึ่งเป็นบุคคลส่วนน้อยของประเทศแต่ก็ เป็นการจัดการศึกษาที่ต้องลงทุนสูงทั้งด้านการเงิน เวลา ทรัพยากร ทุกด้าน หลายคนอาจมองว่าเป็นภาระของประเทศ แต่โดยสิทธิมนุษยชน เขาต้องได้รับการดูแลเพราะไม่ใช่ว่าเขาเลือกเกิด เองได้ รัฐ และนักการศึกษา ผู้บริหาร ครู ผู้ปกครอง ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ตลอดจนชุมชนในสังคม ต้องรับทราบปัญหาและให้โอกาสเขาได้เรียนรู้ตามศักยภาพที่มีอยู่ เพื่อสามารถพัฒนาตนเองได้ และไม่ให้เป็นภาระต่อส่วนรวมในสังคมต่อไป 

     พรรณิดา  ผุสดี ( http://www.oknation.net/blog/pannida/2012/11/12/entry-10 )ได้กล่าวถึง  การศึกษาแบบเรียนรวม หมายถึง การรับเด็กเข้ารับการศึกษาโดยไม่แบ่งแยกความบกพร่องของเด็ก หรือคัดแยกเด็กที่ด้อยว่าเด็กส่วนใหญ่ออกจากชั้นเรียน แต่จะใช้การบริหารจัดการและวิธีการในการให้เด็กเกิดการเรียนรู้และพัฒนาการตามความต้องการ จำเป็นอย่างเหมาะสมเป็นรายบุคคล
ลักษณะของการจัดการศึกษาแบบเรียนรวม
ความแตกต่างจากรูปแบบการจัดการศึกษาสำหรับเด็กพิเศษและเด็กปกติคือ จะต้องถือหลักการดังนี้
• เด็กแต่ละคนมีความแตกต่างกัน
• เด็กทุกคนเข้าเรียนในโรงเรียนพร้อมกัน
• โรงเรียนจะต้องปรับสภาพแวดล้อมในการเรียนรู้ทุกด้านเพื่อให้สามารถสอนเด็กได้ทุกคน
• โรงเรียนจะต้องให้บริการ สื่อ สิ่งอำนวยความสะดวกและความช่วยเหลือต่าง ๆ ทางการศึกษาให้แก่เด็กที่มีความต้องการจำเป็นนอกเหนือจากเด็กปกติทุกคน
• โรงเรียนสามารถจัดการศึกษาได้หลายรูปแบบในโรงเรียนปกติทั่วไปโดยจัดให้มีสภาพแวดล้อมที่มีขีดจำกัดน้อยที่สุด

     http://web.nrru.ac.th/web/special_edu/1-1.html#3 ได้รวบรวม การเรียนร่วมการเรียนร่วม หมยถึงการจัดให้เด็กที่มีความต้องการพิเศษและเด็กพิการเข้าไปในระบบการศึกษาทั่วไป มีการร่วมกิจกรรมและใช้ช่วงเวลาช่วงใดช่วงหนึ่งในแต่ละวันระหว่างเด็กที่มีความต้องการพิเศษและเด็กพิการกับเด็กทั่วไป
การเรียนร่วม ในแนวคิดใหม่ เป็นความร่วมมือและรับผิดชอบร่วมกัน (Collaboration) ระหว่างครูทั่วไปและครูการศึกษาพิเศษในโรงเรียน เพื่อดำเนินกิจกรรมการเรียนการสอนและบริการต่าง ๆ ให้กับนักเรียนในความดูแล
         การเรียนร่วม อาจจัดได้ในลักษณะต่าง ๆ ดังนี้
                1. ชั้นเรียนปกติเต็มวัน
                2. ชั้นเรียนปกติเต็มวันและบริการปรึกษาหารือ
                3. ชั้นเรียนปกติเต็มวันและบริการครูเดินสอน
                4. ชั้นเรียนปกติเต็มวันและบริการสอนเสริม
                5. ชั้นเรียนพิเศษและชั้นเรียนปกติ
                6. ชั้นเรียนพิเศษในโรงเรียนปกติ
       โรงเรียนพิเศษเฉพาะความพิการ
   เป็นการจัดการศึกษาในรูปแบบของโรงเรียนศึกษาพิเศษ เฉพาะประเภทความพิการแต่ละประเภทโดยจัดในทุกระดับตั้งแต่ชั้นเรยนเตรียมความพร้อมก่อนประถมศึกษา ประถมศึกษา และมัธยมศึกษา มีทั้งการศึกษาสายสามัญ และสายอาชีพ มีการจัดทำหลักสูตรเฉพาะประเภทความพิการที่สอดคล้องกับความต้องการจำเป็นของแต่ละกลุ่ม มีการจัดทำโปรแกรมการศึกษาเฉพาะบุคคล การมีบุคลากรที่เชี่ยวชาญ รวมทั้งมีสื่อ เทคโนโลยี สิ่งอำนวยความสะดวก และบริการที่เพียงพอและมีคุณภาพ
        1. การจัดในครอบครัว
        2. การจัดโดยชุมชน 
        3. การจัดในสถานพยาบาล
        4. การจัดในศูนย์การศึกษาพิเศษ

สรุป
      การเรียนรู้แบบเรียนรวม เป็นแนวคิดใหม่ทางการศึกษาที่โรงเรียนจะต้องจัดการศึกษาให้กับเด็กทุกคน ไม่มีการแบ่งแยกว่าเด็กคนใดเป็นเด็กทั่วไป เป็นการจัดการศึกษาที่จัดให้เด็กพิเศษเข้ามาเรียนรวมกับเด็กปกติ โดยรับเข้ามาเรียนรวมกัน ตั้งแต่เริ่มเข้ารับการศึกษาและจัดให้มีบริการพิเศษตามความต้องการของแต่ละบุคคล แต่การศึกษาแบบเรียนร่วม เป็นการศึกษาที่ให้เด็กพิเศษเข้าไปเรียนหรือกิกรรมร่วมกับเด็กปกติช่วงเวลาช่วงใดช่วงหนึ่งในแต่ละวัน

ที่มา
       ฉวีวรรณ โยคิน. [Online]  http://61.19.246.216/~nkedu2/?name=webboard&file=read&id=177การศึกษาแบบเรียนรวม. เข้าถึงเมื่อ 15 กรกฎาคม 2558.
       พรรณิดา  ผุสดี. [Online]  http://www.oknation.net/blog/pannida/2012/11/12/entry-10การจัดการศึกษาแบบเรียนรวมและจัดการศึกษาแบบเรียนร่วม . เข้าถึงเมื่อ 15 กรกฎาคม 2558.
        http://web.nrru.ac.th/web/special_edu/1-1.html#3. ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับการศึกษาแบบเรียนรวม. เข้าถึงเมื่อ 15 กรกฎาคม 2558.


การจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ

  http://lms.thaicyberu.go.th/officialtcu/main/advcourse/presentstu/course/ww521/joemsiit/joemsiit-web1/ChildCent/Child_Center1.htm ได้รวบรวม การจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญเกิดขึ้นจากพื้นฐานความเชื่อที่ว่า การจัดการศึกษามีเป้าหมายสำคัญที่สุด คือ การจัดการให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ เพื่อให้ผู้เรียนแต่ละคนได้พัฒนาตนเองสูงสุด  ตามกำลังหรือศักยภาพของแต่ละคน แต่เนื่องจากผู้เรียนแต่ละคนมีความแตกต่างกันทั้งด้านความต้องการ ความสนใจ ความถนัด และยังมีทักษะพื้นฐานอันเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะใช้ในการเรียนรู้ อันได้แก่ ความสามารถในการฟัง พูด อ่าน เขียน ความสามารถทางสมอง ระดับสติปัญญา และการแสดงผลของการเรียนรู้ออกมาในลักษณะที่ต่างกัน จึงควรมีการจัดการที่เหมาะสมในลักษณะที่แตกต่างกัน ตามเหตุปัจจัยของผู้เรียนแต่ละคน และผู้ที่มีบทบาทสำคัญในกลไกของการจัดการนี้คือ ครู แต่จากข้อมูลอันเป็นปัญหาวิกฤตทางการศึกษา และวิกฤตของผู้เรียนที่ผ่านมา แสดงให้เห็นว่า ครูยังแสดงบทบาทและทำหน้าที่ของตนเองไม่เหมาะสม จึงต้องทบทวนทำความเข้าใจ  ซึ่งนำไปสู่การปฏิบัติเพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤตทางการศึกษาและวิกฤตของผู้เรียนต่อไป
    การทบทวนบทบาทของครู ควรเริ่มจากการทบทวนและปรับแต่งความคิด ความเข้าใจเกี่ยวกับความหมายของการเรียน โดยต้องถือว่า แก่นแท้ของการเรียนคือการเรียนรู้ของผู้เรียน ต้องเปลี่ยนจากการยึดวิชาเป็นตัวตั้ง มาเป็นยึดมนุษย์หรือผู้เรียนเป็นตัวตั้ง หรือที่เรียกว่า ผู้เรียนเป็นสำคัญ ครูต้องคำนึงถึงหลักความแตกต่างระหว่างบุคคลเป็นสำคัญ ถ้าจะเปรียบการทำงานของครูกับแพทย์คงไม่ต่างกันมากนัก แพทย์มีหน้าที่บำบัดรักษาอาการป่วยไข้ของผู้ป่วย ด้วยการวิเคราะห์ วินิจฉัยอาการของผู้ป่วยแต่ละคนที่มีความแตกต่างกัน แล้วจัดการบำบัดด้วยการใช้ยาหรือการปฏิบัติอื่น ๆ ที่แตกต่างกัน วิธีการรักษาแบบหนึ่งแบบใดคงจะใช้บำบัดรักษาผู้ป่วยทุกคนเหมือน ๆ กันไม่ได้ นอกจากจะมีอาการป่วยแบบเดียวกัน ในทำนองเดียวกัน ครูก็จำเป็นต้องทำความเข้าใจและศึกษาให้รู้ข้อมูล อันเป็นความแตกต่างของผู้เรียนแต่ละคน และหาวิธีสอนที่เหมาะสม เพื่อให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้อย่างเต็มที่ เพื่อพัฒนาผู้เรียนแต่ละคนนั้นให้บรรลุถึงศักยภาพสูงสุดที่มีอยู่ และจากข้อมูลที่เป็นวิกฤตทางการศึกษา และวิกฤตของผู้เรียนอีกประการหนึ่ง คือ การจัดการศึกษาที่ไม่ส่งเสริมให้ผู้เรียนได้นำสิ่งที่ได้เรียนรู้มาปฏิบัติในชีวิตจริง ทำให้ไม่เกิดการเรียนรู้ที่ยั่งยืน ครูจึงต้องหันมาทบทวนบทบาทและหน้าที่ที่จะต้องแก้ไข โดยต้องตระหนักว่า คุณค่าของการเรียนรู้คือการได้นำสิ่งที่เรียนรู้มานั้นไปปฏิบัติให้เกิดผลด้วย ดังนั้นหลักการจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ จึงมีสาระที่สำคัญ 2 ประการคือ การจัดการโดยคำนึงถึงความแตกต่างของ ผู้เรียน และการส่งเสริมให้ผู้เรียนได้นำเอาสิ่งที่เรียนรู้ไปปฏิบัติในการดำเนิน

ได้รวบรวม การจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ คือ วิธีการสำคัญที่สามารถสร้างและพัฒนาผู้เรียน ให้เกิดคุณลักษณะต่างๆ ที่ต้องการในยุคโลกาภิวัตน์ เนื่องจากเป็นการจัดการเรียนการสอนที่ให้ความสำคัญกับผู้เรียน ส่งเสริมให้ผู้เรียนรู้จักเรียนรู้ด้วยตนเอง เรียนในเรื่องที่สอดคล้องกับความสามารถและความต้องการของตนเองและได้พัฒนาศักยภาพของตนเองอย่างเต็มที่ ซึ่งแนวคิด   การ จัดการศึกษานี้เป็นแนวคิดที่มีรากฐานจากปรัชญาการศึกษาและทฤษฎีการเรียนรู้ต่าง ๆ ที่ได้พัฒนามาอย่าง ต่อเนื่องยาวนาน และเป็นแนวทางที่ได้รับการพิสูจน์ว่าสามารถพัฒนาผู้เรียนให้มีคุณลักษณะตามต้องการอย่างได้ผล (วัฒนาพร ระงับทุกข์. 2542)
       การเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญนี้ ผู้เรียนจะได้รับการส่งเสริมให้ผู้เรียนมี   ความรับผิดชอบและมีส่วนร่วมต่อการเรียนรู้ของตนเอง ซึ่งแนวคิดแบบผู้เรียนเป็นสำคัญจะยึดการศึกษาแบบก้าวหน้าของผู้ เรียนเป็นสำคัญ ผู้เรียนแต่ละคนมีคุณค่าสมควรได้รับการเชื่อถือไว้วางใจ แนวทางนี้จึงเป็นแนวทางที่จะ ผลักดันผู้เรียนไปสู่การบรรลุศักยภาพของตน โดยส่งเสริมความคิดของผู้เรียนและอำนวยความสะดวกให้เขาได้พัฒนาศักยภาพของตนเองอย่างเต็มที่ การจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลางเป็นการจัดกระบวนการเรียนรู้แบบใหม่ที่มีลักษณะแตกต่างจากการจัดกระบวนการเรียนรู้แบบดั้งเดิมทั่วไป

  http://www.moe.go.th/moe/th/blog/view-blog.php?memberid=1640 ได้รวบรวม การเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ
1. การเรียนรู้โดยใช้ทักษะการอ่าน
        ทักษะการอ่านมีความจำเป็นต่อการเรียนรู้ในทุกสาขาวิชา  ผู้เรียนจะเกิดการเรียนรู้ได้ดีหากมีความสามารถในการอ่าน ซึ่งครูผู้สอนสามารถพัฒนาทักษะการอ่านและการเรียนรู้โดยใช้ทักษะการอ่านได้
การเรียนรู้โดยใช้ทักษะการอ่าน  มีขั้นตอนและองค์ประกอบ ดังนี้
                1.  ขั้นเตรียมการ  
1.1  เตรียมเอกสารบทเรียนให้ผู้เรียนอ่าน   โดยให้ผู้เรียนตัดสินใจ
เลือกเองอย่างมีเหตุผล  หรือครูเป็นผู้ช่วยกำหนดกรอบเนื้อหาให้
 1.2   การตั้งคำถาม    เพื่อตอบคำถามในขณะที่อ่านเอกสารบทเรียน
                2. ขั้นการอ่าน
2.1  การอ่านเพื่อสำรวจขั้นต้น  เป็นการสำรวจเนื้อหาหลักของเอกสารบทเรียนเพื่อช่วยให้ผู้เรียนทราบแนวทางการเรียบเรียงของผู้แต่ง
2.2 การอ่านและเชื่อมโยงความสัมพันธ์ ผู้เรียนใช้เทคนิคการอ่านแบบต่าง ๆ ที่เหมาะสม  และ  ใช้พื้นความรู้เดิมเชื่อมโยงกับเอกสารบทเรียน   ตอบคำถามที่ได้ตั้งไว้ในข้อ 1.2
2.3  การอธิบายและทำหมายเหตุประกอบ อาจทำคำอธิบายเพิ่มเติมลงไปในเอกสารบทเรียนนั้น  เพื่อช่วยให้เกิดความเข้าใจมากยิ่งขึ้น
                3.  ขั้นสรุป
3.1 การจำ  ผู้เรียนอาจใช้เค้าโครงของเรื่องและการสรุปมาเป็นเครื่องช่วยในการจำบทเรียน
3.2  การประเมิน ผู้เรียนสามารถประเมินการทำงานของตนเองและพิจารณาผลสัมฤทธิ์ตามจุดมุ่งหมายที่ได้กำหนด
                การใช้วิธีการเรียนรู้แบบนี้ อาจใช้ในลักษณะของการสอนรายบุคคลได้ โดยแยกตามระดับความสามารถของผู้เรียนแต่ละคน นอกจากนี้อาจใช้การเรียนเป็นทีมเพื่อให้เด็กที่ก้าวหน้าได้รวดเร็วมาเป็นพี่เลี้ยงให้กับผู้เรียนที่ยังไม่ค่อยคล่อง
2.     การเรียนรู้เพื่อสร้างความรู้   (Constructivism)

         การเรียนรู้เพื่อสร้างความรู้ เป็นการจัดสถานการณ์ที่ทำให้เกิดการคิด  โดยสถาน-การณ์ปัญหาที่จัดให้จะทำให้เกิดความไม่สมดุล สับสนในความคิด เนื่องจากข้อมูลความรู้ที่มีอยู่เดิมไม่เพียงพอหรือไม่สอดคล้องกับปัญหา/สถานการณ์ที่ได้รับ         ทำให้เกิดการพิจารณา  ไตร่ตรอง พินิจพิเคราะห์หาข้อมูลเพิ่มเติม  โดยการอภิปราย แลกเปลี่ยนความรู้จากซึ่งและกัน นำความรู้ใหม่และความรู้เดิมมาสัมพันธ์กันจนเกิดความรู้ความคิดใหม่ แล้วนำมาเปรียบเทียบพิจารณาตรวจสอบ นำไปใช้ได้อย่างถูกต้อง

สรุป
       การจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ เพื่อให้ผู้เรียนแต่ละคนได้พัฒนาตนเองสูงสุด  ตามกำลังหรือศักยภาพของแต่ละคน แต่เนื่องจากผู้เรียนแต่ละคนมีความแตกต่างกันทั้งด้านความต้องการ ความสนใจ ความถนัด และยังมีทักษะพื้นฐานอันเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะใช้ในการเรียนรู้ การจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลางเป็นการจัดกระบวนการเรียนรู้แบบใหม่ที่มีลักษณะแตกต่างจากการจัดกระบวนการเรียนรู้แบบดั้งเดิมทั่วไป อาจใช้ในลักษณะของการสอนรายบุคคลได้ โดยแยกตามระดับความสามารถของผู้เรียนแต่ละคน หรืออาจใช้เป็นทีมเพื่อให้เด็เกิดความก้าวหน้า

ที่มา
 http://lms.thaicyberu.go.th/officialtcu/main/advcourse/presentstu/course/ww521/joemsiit/joemsiit-web1/ChildCent/Child_Center1.htmการจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ.เข้าถึงเมื่อ 15 กรกฎาคม 2558.
 http://etcserv.pnru.ac.th/kmpnru/?module=knowledge/%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%88%E0%B8%B1%E0%B8%94%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%99%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%AA%E0%B8%AD%E0%B8%99%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B9%80%E0%B8%99%E0%B9%89%E0%B8%99%E0%B8%9C%E0%B8%B9%E0%B9%89%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%99%E0%B9%80%E0%B8%9B%E0%B9%87%E0%B8%99%E0%B8%AA%E0%B8%B3%E0%B8%84%E0%B8%B1%E0%B8%8D . การจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ.เข้าถึงเมื่อ 15 กรกฎาคม 2558.
 http://www.moe.go.th/moe/th/blog/view-blog.php?memberid=1640. การจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ.เข้าถึงเมื่อ 15 กรกฎาคม 2558.

วันอังคารที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

รูปแบบการจัดการเรียนรู้ เรื่องวิธีการสอนแบบวินเนทก้า

  http://www.neric-club.com/data.php?page=22&menu_id=76  ได้รวบรวม  วิธีสอนแบบวินเนทก้า (The Winnetka Plan)  เป็นวิธีสอนที่เปิดโอกาสให้นักเรียนได้เรียนรู้ตามอัตราความเร็วที่ต่างกัน นักเรียนคนใดมีความพร้อมก็สามารถเรียนบทเรียนต่อไปโดยไม่ต้องรอเพื่อน ส่วนนักเรียนที่ยังไม่พร้อมสำหรับการเรียนรู้ต่อไปก็สามารถเรียนซ้ำในบทเรียนเดิม จนกว่าจะพร้อมที่จะเรียนรู้ต่อไป

        http://narin2010.igetweb.com/articles/512814/%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%AA%E0%B8%AD%E0%B8%99.html ได้รวบรวม วิธีสอนแบบวินเนทก้า (The Winnetka Plan)
เป็นวิธีสอนที่ คาร์ลตัน วอชเบิร์น (Carleton Washburne) ริเริ่มทดลองจัดทำขึ้น เป็นวิธีสอนรายบุคคลเหมือนกันคือ ยอมให้นักเรียนเรียนตามอัตราความเร็วต่างๆ กันและคนเดียวกันอาจเรียนวิชาต่างๆในอัตราความเร็วต่างกันก็ได้ มีการสอนเป็นรายบุคคลเมื่อเห็นว่านักเรียนพร้อม ถ้าสอบได้ก็เรียนต่อไป
การสอนแบบนี้เน้นกิจกรรมหมู่มากกว่าของดัลตัน

สรุป
         รูปแบบการจัดการเรียนรู้ เรื่องวิธีการสอนแบบวินเนทก้า เป็นการสอนที่เปิดโอกาสให้นักเรียนได้เรียนรู้ด้วยตนเอง ตามความสามารถของตัวเอง ถ้านักเรียนใดพร้อมก็สามารถเรียนบทต่อไปไม่ต้องรอเพื่อน ส่วนนักเรียนที่ยังไม่พร้อมก็เรียนซ้ำในบทเรียนเดิม

ที่มา
  http://www.neric-club.com/data.php?page=22&menu_id=76วิธีการสอนแบบวินเนทก้า.เข้าถึงเมื่อ 15 กรกฎาคม 2558.
  http://narin2010.igetweb.com/articles/512814/%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%AA%E0%B8%AD%E0%B8%99.htmlวิธีการสอนแบบวินเนทก้า.เข้าถึงเมื่อ 15 กรกฎาคม 2558.

องค์ประกอบการจัดการเรียนรู้

       http://pichaikum.blogspot.com/2008/11/blog-post.html  ได้รวบรวม องค์ประกอบการจัดการเรียนรู้
1. ผู้สอน เป็นผู้ที่มีความสำคัญในการที่จะแปลมาตรฐานการเรียนรู้และสาระการเรียนรู้ที่เป็น
ตัวหนังสือให้เป็นกิจกรรมการเรียนรู้ที่เหมาะสม น่าสนใจ และมีกระบวนการเรียนรู้หลากหลายวิธีอย่างอิสระ จะต้องรู้จักเลือกปรับปรุงเทคนิคและวิธีการเรียนรู้ และกิจกรรมการเรียนรู้ ให้เหมาะสมกับเนื้อหาและผู้เรียนโดยไม่ใช้วิธีการเดียว ควรมีการดัดแปลงและเลือกใช้วิธีการให้เหมาะสมกับวัตถุประสงค์และเนื้อหาในแต่ละเรื่อง เพื่อส่งเสริมให้ผู้เรียนประสบผลสำเร็จในการเรียนรู้
2. ผู้เรียน เป็นอีกองค์ประกอบหนึ่งที่มีความสำคัญต่อการจัดการเรียนรู้ ผู้เรียนแต่ละคนมีความแตกต่างกันทั้งบุคลิกภาพ สติปัญญา ความถนัด ความสนใจและความสมบูรณ์ของร่างกาย ผู้เรียนควรมีโอกาสร่วมคิด ร่วมวางแผนในการจัดการเรียนการสอน และมีโอกาสเลือกวิธีเรียนได้อย่างหลากหลาย ตามความเหมาะสมภายใต้การแนะนำของผู้สอน
3. เนื้อหาวิชาต่างๆ ซึ่งผู้สอนจะต้องจัดเนื้อหาวิชาให้มีความสัมพันธ์กัน มีความน่าสนใจ เหมาะสมกับวัย ระดับชั้น รวมทั้งสภาพสิ่งแวดล้อมของการจัดการเรียนรู้
4. สื่อ/แหล่งการเรียนรู้ ได้แก่ อุปกรณ์ช่วยในการจัดการเรียนรู้ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
5. สภาพแวดล้อมและบรรยากาศการเรียนรู้ ผู้สอนต้องมีวิธีการที่จะจัดสภาพแวดล้อมและบรรยากาศที่เอื้ออำนวยต่อการพัฒนาทางวิชาการ เช่น จัดห้องชวนคิด ห้องกิจกรรมวิทยาศาสตร์ จัดระบบนิเวศจำลอง จัดบริเวณโรงเรียนเป็นแหล่งเรียนรู้ทางชีววิทยา ธรณีวิทยา ฯลฯ มีการดัดแปลงห้องเรียนให้นักเรียนทำกิจกรรมการเรียนรู้ที่สามารถมีปฏิสัมพันธ์กันได้ดี และจัดกิจกรรมที่เอื้อให้ผู้ปกครองและชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ด้วย

       https://th.wikipedia.org/wiki  ได้รวบรวม  องค์ประกอบการจัดการเรียนรู้มีดังนี้   องค์ประกอบที่สำคัญที่ก่อให้เกิดการเรียนรู้ จากแนวคิดนักการศึกษา กาเย่ (Gagne)
ผู้เรียน (Learner) มีระบบสัมผัสและ ระบบประสาทในการรับรู้
สิ่งเร้า (Stimulus) คือ สถานการณ์ต่างๆ ที่เป็นสิ่งเร้าให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้
การตอบสนอง (Response) คือ พฤติกรรมที่เกิดขึ้นจากการเรียนรู้

       http://www.baanjomyut.com/library_2/psychology_of_learning/01.  html   ได้รวบรวม            องค์ประกอบการจัดการเรียนรู้ไว้ว่า องค์ประกอบการจัดการเรียนรู้มีดังนี้ ดอลลาร์ด และมิลเลอร์ (Dallard and Miller) เสนอว่าการเรียนรู้ มีองค์ประกอบสำคัญ 4 ประการ คือ
1.    แรงขับ (Drive) เป็นความต้องการที่เกิดขึ้นภายในตัวบุคคล เป็นความพร้อมที่จะเรียนรู้ของบุคคลทั้งสมอง ระบบประสาทสัมผัสและกล้ามเนื้อ แรงขับและความพร้อมเหล่านี้จะก่อให้เกิดปฏิกิริยา หรือพฤติกรรมที่จะชักนำไปสู่การเรียนรู้ต่อไป
2.    สิ่งเร้า (Stimulus) เป็นสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นในสถานการณ์ต่างๆ ซึ่งเป็นตัวการที่ทำให้บุคคลมีปฏิกิริยา หรือพฤติกรรมตอบสนองออกมา ในสภาพการเรียนการสอน สิ่งเร้าจะหมายถึงครู กิจกรรมการสอน และอุปกรณ์การสอนต่างๆ ที่ครูนำมาใช้
3.    การตอบสนอง (Response) เป็นปฏิกิริยา หรือพฤติกรรมต่างๆ ที่แสดงออกมาเมื่อบุคคลได้รับการกระตุ้นจากสิ่ง เร้า ทั้งส่วนที่สังเกตเห็นได้และส่วนที่ไม่สามารถสังเกตเห็นได้ เช่น การเคลื่อนไหว ท่าทาง คำพูด การคิด การรับรู้  ความสนใจ และความรู้สึก เป็นต้น
4.    การเสริมแรง (Reinforcement) เป็นการให้สิ่งที่มีอิทธิพลต่อบุคคลอันมีผลในการเพิ่มพลังให้เกิดการเชื่อมโยง   ระหว่างสิ่งเร้ากับการตอบสนองเพิ่มขึ้น การเสริมแรงมีทั้งทางบวกและทางลบ ซึ่งมีผลต่อการเรียนรู้ของบุคคล เป็นอันมาก

สรุป
        องค์ประกอบการจัดการเรียนรู้ ที่สำคัญคือ 1. ผู้สอน   2. ผู้เรียน    3. เนื้อหาวิชาต่างๆ   4. สื่อ/แหล่งการเรียนรู้  5. สภาพแวดล้อมและบรรยากาศการเรียนรู้   6. แรงขับ (Drive) 7. สิ่งเร้า (Stimulus)      8.การตอบสนอง (Response)9.การเสริมแรง (Reinforcement)

ที่มา
        http://pichaikum.blogspot.com/2008/11/blog-post.html .องค์ประกอบการเรียนรู้.เข้าถึงเมื่อ 15 กรกฎาคม 2558.
         https://th.wikipedia.org/wiki .ทฤษฎีการเรียนรู้.เข้าถึงเมื่อ 15 กรกฎาคม 2558.
         http://www.baanjomyut.com/library_2/psychology_of_learning/01.  html . จิตวิทยาการเรียนรู้.เข้าถึงเมื่อ 15 กรกฎาคม 2558.

วันพฤหัสบดีที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2558

ความสำคัญของการเรียนรู้

      ปรียาพร  วงศ์อนุตรโรจน์  (2548: 29) ได้กล่าวถึง การเรียนรู้เป็นส่วนหนึ่งของการปรับตัวให้เข้ากับสภาพของสังคมและสิ่งแวดล้อมนั้น การเรียนรู้ไม่เพียงแต่การจัดกิจกรรมในโรงเรียนหรือสถานศึกษา แต่เกิดขึ้นได้ทุกสภาพและทุกขณะ ตั้งแต่ลืมตาดูโลก เราก็เริ่มเรียนรู้จากสิ่งต่างๆรอบตัว เริ่มจากสิ่งแวดล้อมภายในครอบครัว บ้านในครอบครัวก่อนอื่น โดยเด็กเล็กจะเริ่มรู้ว่า การร้องนั้นสามารถเรียกอาหาร นม และความเอาใจใส่จากแม่ได้ เมื่อเวลาผ่านไปเด็กจะเจริญเติบโตขึ้น มีวุฒิภาวะที่จะทำกิจกรรมต่างๆ  ตามความสามารถของตน

       พงษ์พันธ์  พงษ์โสภา (2542: 77) ได้กล่าวถึง ความสำคัญของการเรียนรู้ไว้ว่า การเรียนรู้เป็นสิ่งสำคัญอย่างหนึ่งของชีวิต ช่วยให้คนเราสามารถปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในชีวิตหรือสามารถปรับสิ่งแวดล้อมให้เข้ากับตัวเราได้ ดังนั้น คนเราจึงต้องมีการเรียนรู้อยู่เสมอและเป็นไปอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต ด้วยเหตุนี้เอง นักจิตวิทยา ครู อาจารย์ ตลอดถึงผู้ที่เกี่ยวข้องในแวดวงของการศึกษา จึงให้ความสนใจเรื่องของการเรียนรู้เป็นอย่างมาก ทั้งนี้ เพราะชีวิตความเป็นอยู่ และการประพฤติปฏิบัติของคนเราจะเป็นไปในรูปแบบใด ย่อมขึ้นอยู่กับการเรียนรู้เป็นสำคัญ

      http://www.scribd.com/doc/62888506   ได้รวบรวม ความสำคัญของการเรียนรู้ไว้ดังนี้  
   Richard  R. Bootsin  กล่าวว่า
1) การเรียนรู้เป็นพื้นฐานของการดำรงชีวิต
2) มนุษย์มีการเรียนรู้ตั้งแต่แรกเกิดจนถึงก่อนตาย
3) ไม่มีใครแก่เกินที่จะเรียน  No one old to learn
4) การเรียนรู้จะช่วยในการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น

สรุป
      ความสำคัญของการเรียนรู้ คือ การปรับตัวให้เข้ากับสภาพสังคมและสิ่งแวดล้อมในปัจจุบัน และเป็นพื้นฐานในการดำรงชีวิต ซึ่งการเรียนรู้เกิดขึ้นตั้งแต่แรกเกิดจนถึงตาย คนเราจึงต้องมีการเรียนรู้อยู่เสมอและเป็นไปอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต  เพื่อช่วยในการพัฒนาคุณภาพของชีวิตให้ดีขึ้น

ที่มา

   ปรียาพร   วงศ์อนุตรโรจน์ . (2548). จิตรวิทยาการศึกษา. กรุงเทพฯ : ศูนย์สื่อเสริมกรุงเทพ.
   พงษ์พันธ์    พงษ์โสภา. (2542). จิตวิทยาการศึกษาEducational  Psychology. กรุงเทพฯ : พัฒนาศึกษา.
   http://www.scribd.com/doc/62888506 . การเรียนรู้ Learning.  เข้าถึงเมื่อ 25 มิถุนายน 2558.

วันพุธที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2558

ความหมายของการเรียนรู้

                                                   
    ฮิลการ์ด และ เบาเวอร์ (Hilgard & Bower, 1981) (http://www.baanjomyut.com/library_2/psychology_of_learning/01.html) ได้กล่าวถึง "การเรียนรู้ เป็นกระบวนการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม อันเป็นผลมาจากประสบการณ์และการฝึก ทั้งนี้ไม่รวมถึงการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมที่เกิดจากการตอบสนองตามสัญชาตญาณ ฤทธิ์ของยา หรือสารเคมี หรือปฏิกริยาสะท้อนตามธรรมชาติของมนุษย์ "

    คิมเบิล (Gregory A Kimble)  (http://www.novabizz.com/NovaAce/Learning/Learning_Process.htm) ได้กล่าวถึง "การเรียนรู้คือการเปลี่ยนแปลงศักยภาพแห่งพฤติกรรมที่ค่อนข้างถาวร ซึ่งเป็นผลมาจากการฝึกหรือการปฏิบัติที่ได้รับ การเสริมแรง (Learning as a relatively permanent change in behavioral potentiality that occurs as a result of reinforced practice) "

    http://www.vcharkarn.com/lesson/1625. ได้รวบรวม การเรียนรู้ (Learning) ตามความหมายทางจิตวิทยา หมายถึง การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของบุคคลอย่างค่อนข้างถาวร อันเป็นผลมาจากการฝึกฝนหรือการมีประสบการณ์ พฤติกรรมเปลี่ยนแปลงที่ไม่จัดว่าเกิดจากการเรียนรู้ ได้แก่ พฤติกรรมที่เป็นการเปลี่ยนแปลงชั่วคราว และการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมที่เนื่องมาจากวุฒิภาวะ

สรุป
   
   การเรียนรู้ หมายถึง การเปลี่ยนแปลงทางพฤติกรรม ซึ่งขึ้นอยู่กับอายุ ประสบการณ์ต่างๆของแต่ละ
บุลคล


ที่มา

  ฮิลการ์ด และ เบาเวอร์ (Hilgard & Bower, 1981).[Online] http://www.baanjomyut.com/library_2/psychology_of_learning/01.htmlความหมายของการเรียนรู้. เข้าถึงเมื่อ 17/06/2558.
   คิมเบิล (Gregory A Kimble). [Online]  http://www.novabizz.com/NovaAce/Learning/Learning_Process.htmความหมายของการเรียนรู้. เข้าถึงเมื่อ 17/06/2558.
   http://www.vcharkarn.com/lesson/1625. ความหมายของการเรียนรู้. เข้าถึงเมื่อ 17/06/2558.