ฉัตรศิริ ปิยะพิมลสิทธิ์ ( http://www.watpon.com/Elearning/mea1.htm ) ได้กล่าวถึง การประเมินผล (Evaluation) หมายถึง การนำเอาข้อมูลต่าง ๆ ที่ได้จากการวัดรวมกับการใช้วิจารณญาณของผู้ประเมินมาใช้ในการตัดสินใจ โดยการเปรียบเทียบกับเกณฑ์ เพื่อให้ได้ผลเป็นอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น เนื้อหมูชิ้นนี้หนัก 0.5 กิโลกรัมเป็นเนื้อหมูชิ้นที่เบาที่สุดในร้าน (เปรียบเทียบกันภายในกลุ่ม) เด็กชายแดงได้คะแนนวิชาภาษาไทย 42 คะแนนซึ่งไม่ถึง 50 คะแนนถือว่าสอบไม่ผ่าน (ใช้เกณฑ์ที่ครูสร้างขึ้น) เป็นต้น
การประเมินผลแบ่งได้เป็น 2 ประเภท การประเมินแบบอิงกลุ่มและการประเมินแบบอิงเกณฑ์
1. การประเมินแบบอิงกลุ่ม เป็นการเปรียบเทียบคะแนนจากแบบทดสอบหรือผลงานของบุคคลใดบุคคลหนึ่งกับบุคคลอื่น ๆ ที่ได้ทำแบบทดสอบเดียวกันหรือได้ทำงานอย่างเดียวกัน นั่นคือเป็นการใช้เพื่อจำแนกหรือจัดลำดับบุคคลในกลุ่ม การประเมินแบบนี้มักใช้กับการ การประเมินเพื่อคัดเลือกเข้าศึกษาต่อ หรือการสอบชิงทุนต่าง ๆ
2. การประเมินแบบอิงเกณฑ์ เป็นการเปรียบเทียบคะแนนจากแบบทดสอบหรือผลงานของบุคคลใดบุคคลหนึ่งกับเกณฑ์หรือจุดมุ่งหมายที่ได้กำหนดไว้ เช่น การประเมินระหว่างการเรียนการสอนว่าผู้เรียนได้บรรลุวัตถุประสงค์การเรียนรู้ที่ได้กำหนดไว้หรือไม่
ข้อแตกต่างระหว่างการประเมินผลแบบอิงกลุ่มและอิงเกณฑ์
การประเมินผลแบบอิงกลุ่ม
1. เป็นการเปรียบเทียบคะแนนที่ได้กับคะแนนของคนอื่น ๆ
2. นิยมใช้ในการสอบแข่งขัน
3. คะแนนจะถูกนำเสนอในรูปของร้อยละหรือคะแนนมาตรฐาน
4. ใช้แบบทดสอบเดียวกันทำหรับผู้เรียนทั้งกลุ่มหรืออาจใช้แบบทดสอบคู่ขนาน เพื่อให้สามารถเปรียบเทียบกันได้
5. แบบทดสอบมีความยากง่ายพอเหมาะ มีอำนาจจำแนกสูง
6. เน้นความเที่ยงตรงทุกชนิด
การประเมินแบบอิงเกณฑ์
1. เป็นการเปรียบเทียบคะแนนที่ได้กับเกณฑ์ที่ได้กำหนดไว้
2. สำหรับการเรียนการสอนเพื่อพัฒนาผู้เรียนหรือเพื่อปรับปรุงการเรียนการสอน
3. คะแนนจะถูกนำเสนอในรูปของผ่าน-ไม่ผ่านตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้
4. ไม่ได้เปรียบเทียบกับคนอื่น ๆ จึงไม่จำเป็นต้องใช้แบบทดสอบฉบับเดียวกันกับผู้เรียนทั้งชั้น
5. ไม่เน้นความยากง่าย แต่อำนาจจำแนกควรมีพอเหมาะ
6. เน้นความเที่ยงตรงเชิงเนื้อหา
ภูมิชนะ เกิดพงษ์ ( https://www.gotoknow.org/posts/181202 ) ได้กล่าวถึง ความหมายของการประเมินผล (evaluation)
การประเมินผล หมายถึงกระบวนการที่กระทำต่อจากการวัดผล แล้ววินิจฉัยตัดสิน ลงสรุปคุณค่าที่ได้จากการวัดผลอย่างมีกฎเกณฑ์ และมีคุณธรรม เพื่อพิจารณาตัดสินใจว่าสิ่งนั้นดีหรือเลว เก่งหรืออ่อน ได้หรือตก เป็นต้น
ดังนั้น การวัดผลและการประเมินผลมีความสัมพันธ์กัน กล่าวคือ การวัดผลจะทำให้ได้ตัวเลข ปริมาณ หรือรายละเอียดของคุณลักษณะหรือพฤติกรรมของบุคคล จากนั้นจะนำเอาผลการวัดนี้ไปพิจารณาเปรียบเทียบกับเกณฑ์ที่กำหนดไว้เพื่อตัดสิน หรือลงสรุปเกี่ยวกับสิ่งนั้น ซึ่งเรียกว่าการประเมินผล
การวัดผลและประเมินผลการศึกษา เกี่ยวข้องกับกระบวนการเรียนการสอนตลอดเวลา ซึ่งจุดมุ่งหมายของการวัดผลและประเมินผลนั้น ไม่ใช่เฉพาะการนำผลการวัดไปตัดสินได้-ตก หรือใครควรจะได้เกรดอะไรเท่านั้น แต่ควรนำผลการวัดและประเมินนี้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อการศึกษาในหลาย ๆ ลักษณะดังนี้
1. เพื่อค้นและพัฒนาสมรรถภาพของนักเรียน หมายถึงการวัดผลและประเมินผลเพื่อดูว่านักเรียนบกพร่องหรือไม่เข้าใจในเรื่องใด ตอนใด แล้วครูพยายามสอนให้นักเรียนเกิดความรู้ มีความเจริญงอกงามตามศักยภาพของตนเอง จุดมุ่งหมายข้อนี้สำคัญมาก หรืออาจกล่าวได้ว่าเป็น ปรัชญาการวัดผลการศึกษา (ชวาล แพรัตกุล. 2516 : 34)
2. เพื่อจัดตำแหน่ง (placement) การวัดผลและประเมินผลวิธีนี้เพื่อเปรียบเทียบตนเองกับคนอื่นๆ โดยอาศัยกลุ่มเป็นเกณฑ์ว่าใครเด่น-ด้อย ใครได้อันดับที่ 1 ใครสอบได้-ตก หรือใครควรได้เกรดอะไร เป็นต้น การวัดผลและประเมินผลวิธีนี้เหมาะสำหรับการตัดสินผลการเรียนแบบอิงกลุ่ม และการคัดเลือกคนเข้าทำงาน
3. เพื่อวินิจฉัย (diagnostic) เป็นการวัดผลและประเมินผลที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อหาความบกพร่องของผู้เรียนว่าวิชาที่เรียนนั้นมีจุดบกพร่องตอนใด เพื่อที่จะได้นำไปปรับปรุงแก้ไข ซ่อมเสริมส่วนที่ขาดหายไปให้ดียิ่งขึ้น ซึ่งในกระบวนการเรียนการสอนเรียกว่าการวัดผลย่อย (formative measurement)
4. เพื่อเปรียบเทียบ (assessment) เป็นการวัดผลและประเมินผลเพื่อเปรียบเทียบตนเอง หรือ เพื่อดูความงอกงามของเด็กแต่ละคนในช่วงเวลาที่ต่างกัน ว่าเจริญงอกงามเพิ่มขึ้นกว่าเดิมมากน้อยเพียงใด เช่น การเปรียบเทียบผลก่อนเรียน(pre-test) และหลังเรียน (post-test)
5. เพื่อพยากรณ์ (prediction) เป็นการวัดผลและประเมินผลเพื่อทำนายอนาคตต่อไปว่าจะเป็นอย่างไร นั่นคือเมื่อเด็กคนหนึ่งสอบแล้วสามารถรู้อนาคตได้เลยว่า ถ้าการเรียนของเด็กอยู่ในลักษณะนี้ต่อไปแล้วการเรียนจะประสบผลสำเร็จหรือไม่ ซึ่งสามารถนำไปใช้ในเรื่องของการแนะแนวการศึกษาว่านักเรียนควรเรียนสาขาใด หรืออาชีพใดจึงจะเรียนได้สำเร็จ แบบทดสอบที่ใช้วัด จุดมุ่งหมายในข้อนี้ ได้แก่ แบบทดสอบวัดความถนัด (aptitude test) แบบทดสอบวัดเชาว์ปัญญา (intelligence test) เป็นต้น
6.เพื่อประเมินผล(evaluation)เป็นการนำผลที่ได้จากการวัดไปเปรียบเทียบกับเกณฑ์ที่กำหนดไว้ เพื่อตัดสินลงสรุปให้คุณค่าของการศึกษา หลักสูตรหรือ เครื่องมือที่ใช้ในการวัดผลว่าเหมาะสมหรือไม่ และควรปรับปรุงแก้ไขอย่างไร
ประโยชน์ของการวัดผลและประเมินผลการศึกษา
การวัดผลและประเมินผลการศึกษา มีประโยชน์ต่อกระบวนการเรียนการสอนเป็นอย่างยิ่งเพราะว่าเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งในการตัดสินใจของครู ผู้บริหารและนักการศึกษา ซึ่งพอจะสรุปประโยชน์ในด้านต่าง ๆ ดังนี้ (อนันต์ ศรีโสภา. 2522 : 1-2)
1. ประโยชน์ต่อครู ช่วยให้ทราบเกี่ยวกับพฤติกรรมเบื้องต้นของนักเรียน ครูก็จะรู้ว่านักเรียนมีความรู้พื้นฐานพร้อมที่จะเรียนในบทต่อไปหรือไม่ ถ้าหากว่านักเรียนคนใดยังไม่พร้อมครูก็จะหาทางสอนซ่อมเสริม นอกจากนี้ยังช่วยให้ครูปรับปรุงเทคนิคการสอนให้เหมาะสมและมีประสิทธิภาพอีกด้วย
2. ประโยชน์ต่อนักเรียน ช่วยให้นักเรียนรู้ว่าตัวเองเก่งหรืออ่อนวิชาใด เรื่องใด ความสามารถของตนอยู่ในระดับใด เพื่อที่จะได้ปรับปรุงตนเอง ตลอดจนแก้ไขข้อบกพร่องทางการเรียนของตนให้ดียิ่งขึ้น
3. ประโยชน์ต่อการแนะแนว ช่วยให้แนะแนวการเลือกวิชาเรียน การศึกษาต่อ การเลือกประกอบอาชีพของนักเรียนให้สอดคล้องเหมาะสมกับความรู้ความสามารถและบุคลิกภาพตลอดจนช่วยให้สามารถแก้ปัญหาทางจิตวิทยา อารมณ์ สังคมและบุคลิกภาพต่างๆของนักเรียน
4. ประโยชน์ต่อการบริหาร ช่วยในการวางแผนการเรียนการสอน ตลอดจนการบริหารโรงเรียน ช่วยให้ทราบว่าปีต่อไปจะวางแผนงานโรงเรียนอย่างไร เช่น การจัดครูเข้าสอน การส่งเสริมเด็กที่เรียนดี การปรับปรุงรายวิชาของโรงเรียนให้ดีขึ้น เป็นต้น นอกจากนั้นแล้วยังมีประโยชน์ต่อการคัดเลือกบุคคลเข้าทำงานในตำแหน่งต่าง ๆ ตามความเหมาะสม
5. ประโยชน์ต่อการวิจัย ช่วยวินิจฉัยข้อบกพร่องในการบริหารงานของโรงเรียน การสอนของครูและข้อบกพร่องของนักเรียน นอกจากนี้ยังนำไปสู่การวิจัย การทดลองต่าง ๆ อันจะเป็นประโยชน์ต่อการศึกษามาก
6. ประโยชน์ต่อผู้ปกครอง (พิตร ทองชั้น. 2524 : 7) ช่วยให้ทราบว่าเด็กในปกครองของตนนั้น มีความเจริญงอกงามเป็นอย่างไร เพื่อเตรียมการสนับสนุนในการเรียนต่อ ตลอดจนการเลือกอาชีพของเด็ก
http://www.elearning.msu.ac.th/opencourse/0506704/page01_04.html ได้รวบรวม ในการวัดและประเมินการเรียนรู้ให้มีประสิทธิภาพ ผู้ประเมินควรเริ่มต้นวางแผนดำเนินกิจกรรม ด้วยการตอบคำถามหลัก 4 คำถาม ดังนี้ (ศิริชัย กาญจนวาศรี. 2543 : 36)
1. วัดและประเมินไปทำไม ผู้ประเมินจะต้องตอบคำถามให้ได้ว่า ข้อมูลหรือสารสนเทศ
นั้น วัดและประเมินเพื่อประโยชน์อะไร สามารถตอบคำถามประโยชน์ของการประเมินตามประเภทของการประเมิน ดังนี้
1.1 การวัดและประเมินก่อนเรียน เพื่อจัดวางตำแหน่งผู้เรียนหรือประเมินความรอบรู้
ของผู้เรียนก่อนจัดกิจกรรมการเรียนการสอน เพื่อประโยชน์ต่อการตัดสินใจในการวางแผนจัดกิจกรรมการเรียนการสอนที่มีความสอดคล้องเหมาะสม
1.2 การวัดและประเมินระหว่างเรียน เพื่อตรวจสอบความรู้ความสามารถของผู้เรียน
ขณะที่จัดกิจกรรมการเรียนการสอน เพื่อประโยชน์ในการติดตามดูความก้าวหน้า หรือพัฒนาการในการเรียนรู้รวมทั้งข้อบกพร่องในการเรียนของผู้เรียน
1.3 การวัดและประเมินหลังเรียน เพื่อสรุปผลการเรียนรู้ของผู้เรียน ที่เป็นประโยชน์ใน
การตัดสินใจเกี่ยวกับระดับการเรียนของผู้เรียน
2. วัดและประเมินอะไร ผู้ประเมินจะต้องตอบคำถามให้ได้ว่า จะต้องการวัดและประเมิน
คุณลักษณะใดจากผู้เรียน ต้องการข้อมูลด้านใดเป็นสำคัญ ซึ่งผู้ประเมินควรคำนึงถึงประเภทของการเรียนรู้ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับผู้เรียน เช่น
2.1 การเรียนรู้ทางด้านสติปัญญา เกี่ยวกับความรู้ความจำ ความคิด การแก้ปัญหาต่าง ๆ
2.2 การเรียนรู้ทางด้านอารมณ์และความรู้สึก เช่น ความสนใจ ทัศนคติ เป็นต้น
2.3 การเรียนรู้ทางด้านทักษะและการปฏิบัติ เช่น ความสามารถในการปฏิบัติงาน
การมีทักษะในงานต่าง ๆ
3. วัดและประเมินอย่างไร ผู้ประเมินจะต้องตอบคำถามให้ได้ว่า จะต้องใช้เครื่องมือชนิดใดถึงจะมีความเหมาะสมสอดคล้องกับสิ่งที่ประเมิน ซึ่งควรพิจารณาในประเด็นต่อไปนี้
3.1 ลักษณะของข้อมูลที่ต้องการ เช่น ข้อมูลเชิงปริมาณ หรือ เชิงคุณภาพ
3.2 ลักษณะของกลุ่มตัวอย่างในการประเมิน เช่น จำนวน และความสามารถของกลุ่มตัวอย่าง
3.3 ระยะเวลาในการประเมิน เช่น การมีเวลาที่จำกัดอาจจะต้องใช้แบบสอบถาม เป็นต้น
4. ตัดสินผลด้วยวิธีใด ผู้ประเมินจะต้องตอบคำถามให้ได้ว่า จะต้องตัดสินผลการประเมินโดยพิจารณาจากคุณลักษณะใด ใช้เกณฑ์อย่างไรในการประเมิน ซึ่งควรพิจารณาในประเด็นต่อไปนี้
4.1 การตัดสินอิงกลุ่ม เพื่อพิจารณาตัดสินผลการเรียน
4.2 การตัดสินอิงเกณฑ์ เพื่อพิจารณาผลการเรียนรู้ ใช้ในการพัฒนากิจกรรมการเรียนการสอน เป็นต้น
ประเภทเครื่องมือประเมินการเรียนรู้
เครื่องมือในการประเมินการเรียนรู้มีหลายชนิด นำเสนอชนิดที่นิยมใช้ในชั้นเรียนและที่สะท้อนแนวคิดการประเมินการเรียนรู้แบบใหม่ พอสังเขป ดังนี้ (นาตยา ปิลันธนานนท์ . 2545 : 212 – 216)
6.1 ข้อสอบปรนัย
ข้อสอบแบบปรนัยมีอยู่หลายประเภท ได้แก่ แบบเลือกตอบ แบบถูก/ผิด แบบจับคู่ และแบบตอบสั้น ๆ หรือเดิมคำหรือข้อความในช่องว่าง ซึ่งจะมีคำตอบชัดเจนแน่นอนเพียงคำตอบเดียว ครูจะใช้ข้อสอบปรนัยมากทั้งในการสอบย่อยรายหน่วย การบ้าน การสอบกลางภาค และการสอบปลายภาคข้อสอบประเภทนี้ จึงมีบทบาทมากในการประเมินระดับห้องเรียนการประเมินด้วยข้อสอบเหล่านี้จะมีคุณค่า ถ้านำมาใช้ประกอบการประเมินด้วยข้อสอบอัตนัย การประเมินจากผลงานกลุ่มที่ร่วมกันทำ การประเมินจากผลงานที่รวบรวมไว้และการสังเกตของครู แต่มิใช่มาประเมินโดยให้คะแนนแยกส่วนออกจากกัน
6.2 ข้อสอบอัตนัย
คำถามอัตนัยที่มีคุณภาพจะทำให้ผู้เรียนได้ใช้ความรู้ข้อมูลต่าง ๆ มาสร้างคำตอบด้วยตัวเอง จึงเหมาะสำหรับการประเมินแนวความคิดที่เป็นประเด็นใหญ่ ๆ สำคัญ ๆ ต้องการดูวิธีการสร้างความสัมพันธ์ของแนวคิดต่าง ๆ ของผู้เรียนว่าเป็นอย่างไร ไม่มีคำตอบใดเพียงคำตอบเดียวที่ถูกต้อง ข้อสอบอัตนัยจึงใช้ประเมินได้ทั้งองค์ความรู้และความรู้ที่เป็นกระบวนการต่าง ๆ เช่น การให้ผู้เรียนอธิบายกระบวนการต่าง ๆ หรือวิพากษ์วิจารณ์กระบวนการต่าง ๆ
6.3 การประเมินจากงาน
การประเมินความสามารถของผู้เรียนจากการทำงาน ถือเป็นส่วนหนึ่งของการประเมินตามมาตรฐานด้วย บางคนอาจเรียกการประเมินจากการปฏิบัติงาน (performance task) ว่าเป็นการประเมินตามสภาพความเป็นจริง (authentic task) การประเมินจากการปฏิบัติงานเป็นการประเมินในสถานการณ์ที่ให้ผู้เรียนต้องสร้างและค้นหาคำตอบเอง ซึ่งเป็นคำตอบที่สะท้อนให้เห็นว่าผู้เรียนสามารถนำความรู้มาประยุกต์ใช้ได้ ส่วนการประเมินตามสภาพจริงเป็นการประเมินในสถานการณ์ที่ผู้เรียนต้องสร้างและค้นหาคำตอบ ซึ่งเป็นคำตอบที่แสดงถึงการประยุกต์ความรู้มาใช้ในการได้คำตอบนั้น สถานการณ์ในการประเมินตามสภาพจริง จะเป็นสถานการณ์ที่เป็นชีวิตจริงมากกว่าการประเมินความสามารถ ตัวอย่างเช่น การประเมินความสามารถอาจให้ผู้เรียนอธิบายว่าเขามีวิธีการแก้ปัญหากระดาษที่ไม่ใช้แล้ว ที่อยู่กลาดเกลื่อนในโรงเรียนได้อย่างไร แต่ถ้าเป็นงานที่ตามสภาพจริงก็ต้องให้ผู้เรียนลงมือปฏิบัติการแก้ปัญหาเลยคิดกระบวนการ หรือแม้แต่ลงมือสร้างเครื่องมือเพื่อแก้ปัญหานี้
6.4 แฟ้มสะสมงาน
เป็นเครื่องมือที่สะท้อนงานที่ลงมือปฏิบัติและเป็นงานที่ตรงตามสภาพจริงได้ เป็นเครื่องมือที่เหมาะสมสำหรับการประเมินระดับห้องเรียนที่รวบรวมงานต่าง ๆ ที่ผู้เรียนทำไม่ว่าจะเป็นรายงาน การบันทึกย่อต่าง ๆ ผลงานต่าง ๆ ที่สร้างขึ้น แฟ้มสะสมงานอาจบรรจุตัวอย่างชิ้นงานที่ทำในแต่ละขั้นตอน เช่น ตั้งแต่ต้นร่าง ต้นฉบับ จนกระทั่งเป็นรายงานฉบับสมบูรณ์ สิ่งที่สำคัญที่สุด แฟ้มสะสมงานควรบรรจุคำอธิบายถึงกระบวนการในการทำงานแต่ละขั้นตอน ของโครงงานแต่ละชิ้นว่ากว่าจะสำเร็จเป็นชิ้นงานนั้นได้ทำอย่างไร และสุดท้ายแฟ้มสะสมงานควรควบคู่ไปกับการจัดแสดงแฟ้มงานด้วย นั่นคือการนำเสนองานที่ผู้เรียนทำให้เขาจัดแสดงงานของเขาเอง การจัดแสดงนิทรรศการผลงานของผู้เรียนอาจใช้สื่อประสม มัลติมีเดีย การเขียนหนังสือ แผ่นพับ การเตรียมพูดรายงาน อธิบาย การสร้างรูปจำลองสร้างกราฟิกจากคอมพิวเตอร์ การเตรียมที่จะตอบคำถามต่าง ๆ ของผู้เข้าชม ได้แก่ ครู เพื่อนร่วมชั้น เพื่อนร่วมโรงเรียน พ่อแม่ ผู้ปกครอง หรือคนในชุมชน
6.5 การสังเกตของครู
การรวบรวมข้อมูลต่าง ๆ จากการประเมิน วิธีการหนึ่งที่ดีคือการสังเกตของครู ครูยิ่งมีความใกล้ชิดเด็กมากเท่าใด การรวบรวมข้อมูลจากการสังเกตของครูก็จะยิ่งมีความตรงมากเท่านั้น ในการสังเกตครูอาจเลือก “จับตา” ดูเด็กในมาตรฐาน มาตรฐานช่วงชั้นบางข้อที่ต้องการจากการที่เขาอยู่ในโรงเรียนในแต่ละวัน ลักษณะการสังเกตควรเป็นการสังเกตดูร่องรอยมากกว่า ที่จะสังเกตอย่างเป็นทางการที่จะต้องมาออกแบบเครื่องมือการสังเกตโดยเฉพาะ หรือถ้าจะใช้เครื่องมือการสังเกต ก็อาจเป็นบันทึกประจำวัน
6.6 การให้ผู้เรียนประเมินตนเอง
การประเมินตนเองเป็นการฝึกให้ผู้เรียนได้มีพัฒนาการในทักษะการคิดขั้นสูง การฝึกให้ผู้เรียนได้ประเมินตนเองจะทำให้ผู้เรียนได้รู้จักกำหนดเป้าหมายการเรียนของตน ซึ่งถือว่าเป็นหัวใจสำคัญของการประเมินผลด้วยวิธีนี้ การให้ผู้เรียนได้ประเมินตนเอง ครูควรให้กรอบประเด็นคำถามเพื่อเป็นแนวทางในการประเมินตนเอง
6.7 การประชุมหารือเพื่อประเมินผล
การประชุมมีจุดประสงค์เพื่อให้ครูได้นำข้อมูล ที่ครูประเมินมาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้เรียน และเพื่อให้ผู้เรียนได้นำข้อมูลของเขามาแลกเปลี่ยนกับครูด้วย ทำให้ทั้งครูและผู้เรียนมีส่วนร่วมในการประเมินหรือร่วมมือกันประเมิน ซึ่งจะมีความหมายที่ใกล้เคียงกับคำในภาษาอังกฤษว่า assessment เป็นอย่างมาก เพราะคำว่า assess มาจากคำในภาษาละตินว่า assidere แปลว่า sit with หรือนั่งด้วยกัน นั่นคือนั่งลงด้วยกันกับผู้เรียน เวลาที่เรานั่งลงข้าง ๆ กับใครแปลว่าเรากำลังให้เกียรติกับเขา ดังนั้นควรมองว่า การประเมินมิใช่เป็นการแสดงอำนาจของครูที่มีอยู่เหนือผู้เรียน แต่ควรเป็นเรื่องการมานั่งจับเข่าคุยกัน เราประเมินกับผู้เรียนและทำไปเพื่อผู้เรียนมิใช่เป็นการกระทำต่อผู้เรียนในลักษณะเช่นนี้ ก็จะทำให้การประเมินมีลักษณะไปในทางสร้างสรรค์ ร่วมแรงร่วมใจร่วมช่วยเหลือกัน ที่สุดก็จะส่งผลต่อการเรียนรู้ของผู้เรียน
สรุป
การประเมินการเรียนรู้เป็นกระบวนการหนึ่ง ที่ทำให้ครูผู้สอนมองเห็นความสำเร็จของการจัดการเรียนการสอน ซึ่งมีความสัมพันธ์สอดคล้องกัน ครูผู้สอนต้องมีความเข้าใจเกี่ยวกับแนวคิด และหลักการทางด้านการประเมินการเรียนรู้ เพื่อเป็นพื้นฐานในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ดังเจตนารมณ์ของหลักสูตรต่อไป
ที่มา
ฉัตรศิริ ปิยะพิมลสิทธิ์. [Online] http://www.watpon.com/Elearning/mea1.htm . การวัดผลและประเมินผล : ความหมายและประเภท. เข้าถึงเมื่อ 15 กรกฎาคม 2558.
ภูมิชนะ เกิดพงษ์. [Online] https://www.gotoknow.org/posts/181202. การวัดผล ประเมินผล การวัดและประเมินผล. เข้าถึงเมื่อ 15 กรกฎาคม 2558.
http://www.elearning.msu.ac.th/opencourse/0506704/page01_04.html. บทที่ 1 ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับการประเมินการเรียนรู้.เข้าถึงเมื่อ 16 กรกฎาคม 2558.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น